ข้อเท็จจริงและประเด็นคำถาม:
ข้อเท็จจริง
ข้าพเจ้าเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย และมีบุตรผู้เยาว์กับสามี ต่อมาสามีของข้าพเจ้าได้ไปมีความสัมพันธ์และแต่งงานกับหญิงอื่นอย่างเปิดเผย โดยที่ยังมิได้หย่าร้างกับข้าพเจ้า เนื่องจากมีบุตรกับหญิงคนใหม่ สามีของข้าพเจ้าได้ยกรถยนต์อันเป็นสินสมรสจำนวน 1 คันให้กับข้าพเจ้า แต่ไม่ยอมจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร
ประเด็นคำถาม
- ข้าพเจ้าสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากหญิงอื่นที่มามีความสัมพันธ์ฉันท์ชู้สาวกับสามีได้หรือไม่ และมีขั้นตอนอย่างไร
- สามีต้องจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรหรือไม่ และมีขั้นตอนอย่างไร
ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้คำปรึกษาไว้ว่า :
การที่ท่านได้จดทะเบียนสมรสกับสามี ทำให้ท่านเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของสามี มีสิทธิและหน้าที่ต่อกันตามกฎหมาย ดังนั้น เมื่อท่านยังมิได้จดทะเบียนหย่ากับสามี ท่านก็ยังคงเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของสามีอยู่ เมื่อปรากฎว่าสามีไปแต่งงานใหม่กับหญิงอื่นในขณะที่ตนเองมีคู่สมรสอยู่ ไม่เป็นเหตุทำให้การสมรสระหว่างท่านกับสามีเสียไป ท่านยังคงเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของสามีอยู่จนกว่าจะมีการจดทะเบียนหย่าร้างกัน หรือฟ้องหย่ากันและศาลได้พิพากษาให้หย่าขาดจากกัน จึงจะทำให้การสมรสระหว่างท่านกับสามีสิ้นสุดลง
ประเด็นต่อมา ท่านสามารถฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่มาเป็นชู้กับสามีของท่านได้ โดยไม่จำเป็นต้องฟ้องหย่ากับสามีก่อน หรือจะฟ้องหย่ากับสามีโดยอ้างเหตุตามมาตรา 1516(1) และเรียกค่าทดแทนจากทั้งสามีและหญิงชู้ได้ทั้งสองคน ตามมาตรา 1523 โดยสามารถนำคดีมาฟ้องได้ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวในพื้นที่ที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือ ศาลเยาวชนและครอบครัวที่มูลคดีเกิดขึ้นภายในเขตอำนาจศาล กล่าวคือ หากต้องการฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงชู้จะต้องฟ้องคดีต่อศาลเยาวชนและครอบครัวซึ่งหญิงนั้นมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาล หรือ ฟ้องคดีต่อศาลเยาวชนและครอบครัวซึ่งเป็นสถานที่ที่สามีอยู่กินกับหญิงชู้อันเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิด
ในส่วนของบุตรผู้เยาว์นั้น กฎหมายได้กำหนดหน้าที่สำหรับบิดามารดาเอาไว้ว่าบิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่บุตรเป็นผู้เยาว์ ดังนั้น ไม่ว่าบิดาจะยังสมรสกับมารดาของบุตรผู้เยาว์อยู่หรือได้จดทะเบียนหย่ากับมารดาของบุตรผู้เยาว์ไปแล้ว ก็ยังคงมีหน้าที่ที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ไปจนกว่าบุตรผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะ หากบิดาไม่จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่บุตร บุตรมีสิทธิที่จะได้รับการอุปการะจากบิดา แต่เนื่องจากบุตรยังเป็นผู้เยาว์ มารดาในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรจึงมีสิทธิที่จะเรียกให้บิดาจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรได้ ซึ่งสามารถนำคดีมาฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางซึ่งสามีมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือ ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวที่ผู้เยาว์มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาลอันถือเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิด
ข้อกฎหมาย
- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452, 1465, 1470, 1471, 1474, 1497, 1501, 1523, 1564 และ 1598/38